ชาวหมึกเลิฟเวอร์ต้องระมัดระวังหลังจากการพบเจอ “หมึกบลูริง” ในอาหารเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในร้านอาหารปิ้งย่าง ตอนเสียบไม้เตรียมย่าง หรือในซูชิ สัตว์ทะเลชนิดนี้มีความสวยงามแต่พิษร้ายแรงมาก มากกว่าพิษของงูเง่าถึง 20 เท่า มาทำความรู้จักและเรียนรู้วิธีการสังเกตก่อนกินเพื่อความปลอดภัย
“หมึกบลูริง” คืออะไร ลักษณะและถิ่นที่อยู่
หมึกบลูริง หรือหมึกสายวงน้ำเงิน เป็นหมึกขนาดเล็กที่พบได้ในทะเลอ่าวไทยและทะเลฝั่งอันดามันของไทย มีลักษณะเด่นคือมีจุดสีน้ำเงินหรือม่วงเรืองแสงบนลำตัวเมื่อถูกคุกคาม พื้นลำตัวมีสีขาวหรือเขียว ทำให้เป็นหมึกที่สวยงาม แต่มีพิษร้ายแรง
หมึกบลูริงกินได้ไหม
หมึกบลูริง ไม่ควรรับประทาน เนื่องจากมีพิษที่ร้ายแรงมาก พิษเตโตรโดท็อกซินที่มีอยู่ในหมึกบลูริงนั้นอันตรายถึงชีวิต และไม่สามารถทำให้พิษหายไปได้แม้แต่ด้วยความร้อนสูง เช่น การปรุงอาหาร ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือรับประทานหมึกบลูริงในทุกกรณี
พิษของ “หมึกบลูริง”
พิษของหมึกบลูริงมีชื่อว่าเตโตรโดท็อกซิน คล้ายกับพิษของปลาปักเป้า พบในต่อมน้ำลาย, ปาก, หนวด, ลำไส้ และต่อมหมึก มีผลต่อระบบประสาท ทำให้อัมพาต ระบบหายใจล้มเหลว และอาจถึงแก่ชีวิต พิษนี้ทนความร้อนได้ถึง 200 องศาเซลเซียส และรุนแรงกว่าไซยาไนด์ 1,200 เท่า และมากกว่าพิษงูเห่า 20 เท่า
อาการของผู้ที่โดนพิษหมึกบลูริง
ผู้ที่โดนพิษจะมีอาการชาที่ริมฝีปาก ลิ้น และลามไปที่ใบหน้า แขน ขา ตาพร่าเลือน และเป็นอัมพาต ขณะนี้ยังไม่มียาแก้พิษ การรักษาคือใช้เครื่องช่วยหายใจและดูแลตามอาการ
วิธีปฐมพยาบาล การช่วยเหลือเบื้องต้น
หากโดนพิษควรเอาอากาศเข้าสู่ปอด และรีบนำส่งแพทย์ หากขาดออกซิเจนนานจะส่งผลร้ายแรงถึงสมอง
วิธีสังเกต “หมึกบลูริง”
หมึกบลูริงมีลำตัวเล็กประมาณ 4-5 เซนติเมตร ยาว 15 เซนติเมตร มีลายวงแหวนสีฟ้าสะท้อนแสงตามลำตัวและหนวด ต่างจากหมึกอิกคิวที่มีลายวงแหวนน้อยกว่า
การระมัดระวังตัวเป็นสิ่งสำคัญเมื่อพบเจอหมึกบลูริง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและป้องกันผลกระทบจากพิษของมัน